ข้อผิดพลาดที่ควรหลีกเลี่ยงในการปูหญ้าเทียม ปูครั้งเดียวจบ ไม่ต้องแก้ให้เหนื่อย
ถ้าคิดว่าการปูหญ้าเทียมแค่ปูลงไปแล้วจบ บอกเลยว่าคิดผิด! เพราะงานปูหญ้าเทียมมันมีรายละเอียดเยอะกว่าที่คิด ถ้าพลาดตั้งแต่ต้น อาจจะเจอปัญหาหนักใจตามมา เช่น น้ำขัง พื้นทรุด หญ้าเทียมหลุดลอก หรือเดินแล้วไม่เรียบเนียน จะเสียเวลา เสียเงิน แถมต้องกลับมาแก้ใหม่ให้วุ่นวายอีก
บทความนี้เลยอยากจะชวนมาดู "ข้อผิดพลาดที่ควรหลีกเลี่ยงในการปูหญ้าเทียม" ที่เจอกันบ่อย ๆ พร้อมแนะนำวิธีแก้แบบง่าย ๆ ให้ปูครั้งเดียวจบ งานออกมาเป๊ะ ไม่ต้องกลัวว่าผ่านไปไม่กี่เดือนแล้วจะพัง ถ้าอ่านจบ รับรองว่ามีแต่คนทักว่างานเนียนจัง ปูเองเหรอ? บอกเลยว่าความลับอยู่ที่รายละเอียดนี่แหละ!
1. ไม่เตรียมพื้นที่ให้ดี จุดเริ่มต้นเล็ก ๆ ที่พังงานใหญ่
หลายคนอาจจะมองข้ามขั้นตอน "การเตรียมพื้นที่" เพราะคิดว่าแค่ปูหญ้าเทียมลงไปก็น่าจะจบแล้ว แต่รู้ไหม? ถ้าพื้นที่ไม่เรียบ ไม่แน่น หรือไม่ได้เช็คความลาดเอียงให้ดี ปัญหาจะตามมาเพียบ! ไม่ว่าจะหญ้าเทียมที่ปูไปแล้วกลายเป็นคลื่น ยุบตัวง่าย หรือพอฝนตกน้ำขังซะงั้น นอกจากจะดูไม่สวยแล้ว ยังทำให้หญ้าเทียมเสื่อมสภาพเร็วอีกด้วย
วิธีแก้ จัดเต็มตั้งแต่แรก ปูครั้งเดียวจบ!
1.1 ถางหญ้าและวัชพืชให้เกลี้ยง ถ้ามีหญ้าหรือวัชพืชขึ้นอยู่ อย่าปล่อยผ่าน! ต้องถางให้หมด อย่าคิดว่าหญ้าเทียมจะกดวัชพืชให้อยู่หมัด เพราะวัชพืชบางชนิดแข็งแรงมาก ดันขึ้นมาได้เหมือนกัน ถ้าหญ้าโผล่มาดันใต้แผ่นหญ้าเทียม มันจะทำให้หญ้าเป็นคลื่น ไม่สวยแน่นอน
1.2 ปรับระดับดินให้เรียบสม่ำเสมอ อย่าปล่อยให้มีหลุมหรือเนินบนพื้นที่ เพราะหญ้าเทียมจะปูไม่เรียบ แถมเสี่ยงยุบตัวตอนใช้งานไปสักพัก วิธีง่าย ๆ คือ ปรับหน้าดินให้เรียบ ถ้าอยากให้แน่นจริง ๆ แนะนำให้ใช้เครื่องตบอัดดินช่วย จะทำให้พื้นแน่นหนาและแข็งแรง พร้อมรองรับการใช้งานในอนาคต
1.3 เช็คความลาดเอียง (สโลป) ให้ดี อันนี้สำคัญมาก เพราะถ้าไม่มีทิศทางระบายน้ำที่ชัดเจน พอฝนตกปุ๊บ น้ำจะขังทันที! แล้วหญ้าเทียมก็จะเสียหายง่าย วิธีง่าย ๆ คือ ตรวจสอบความลาดเอียงของพื้นที่ ถ้าไม่มีสโลปชัด ๆ แนะนำให้ปรับพื้นให้เอียงเล็กน้อยในทิศทางที่อยากให้น้ำไหลออก เช่น ถ้าพื้นอยู่กลางสนาม ก็ให้ขอบรอบ ๆ ต่ำกว่าเล็กน้อย จะช่วยให้น้ำระบายได้ดีขึ้น
1.4 ปูผ้าจีโอเท็กซ์ (Geotextile) กันวัชพืชโผล่มาป่วน ต่อให้ถางวัชพืชจนหมดแล้ว แต่วัชพืชบางชนิดก็แกร่งเหลือเชื่อ โผล่มาใหม่ได้อยู่ดี! แนะนำให้ปูผ้าจีโอเท็กซ์ก่อนวางหญ้าเทียม เพื่อป้องกันวัชพืชที่อาจโผล่มาทำลายความเนียนในอนาคต แถมยังช่วยให้โครงสร้างพื้นแน่นหนาขึ้นอีกด้วยนะ
1.5 ระวังปัญหาดินทรุดในบ้านโครงการใหม่ อันนี้เจอบ่อยมาก โดยเฉพาะบ้านโครงการใหม่ เพราะดินที่ถมใหม่มักจะยังไม่แน่น และมักจะมีโพรงเล็ก ๆ ใต้ดิน โดยเฉพาะบริเวณรอบ ๆ ตัวบ้าน พอฝนตก น้ำไหลเข้าไป ดินก็เริ่มทรุด หญ้าเทียมที่ปูไว้ก็ตามลงไปด้วย สุดท้ายงานพัง! วิธีแก้ง่าย ๆ หาแนวกั้นรอบบ้าน เช่น ใช้แผ่นเหล็กหรือไม้ เพื่อไม่ให้ดินไหลหรือทรุด ถ้าเจอรูโพรงใต้ดิน ให้เทปูนอุดให้แน่น ก่อนปรับหน้าดินหลังจากนั้น ค่อยปรับหน้าดินให้เรียบและแน่นเหมือนเดิม ไม่ต้องกลัวว่าดินจะทรุดในอนาคต
สรุป แค่เตรียมพื้นที่ดี ๆ ตั้งแต่แรก หญ้าเทียมที่ปูไปก็จะสวยเนียน ใช้งานได้ยาว ๆ ไม่ต้องมาแก้งานให้เหนื่อย เพราะฉะนั้น...อย่ารีบ! ค่อย ๆ เคลียร์ ค่อย ๆ ปรับ รับรองปูทีเดียว จบสวยแบบมืออาชีพแน่นอน!
2. ละเลยขั้นตอนการเทหินและทราย เสี่ยงพังตั้งแต่ยังไม่เริ่ม!
พอปูหญ้าเทียมเสร็จใหม่ ๆ แต่พอใช้งานไปไม่นาน เริ่มมีบางจุดยุบ บางจุดเป็นคลื่น พื้นดูไม่เรียบเนียนเหมือนตอนแรก หลายคนสงสัยว่าทำไม ทั้งที่ปูหญ้าก็ว่าเนี๊ยบแล้ว แต่รู้ไหม? จุดพลาดใหญ่ ๆ มาจาก "ขั้นตอนการเทหินและทราย" นี่แหละ เพราะถ้าเทแบบรีบ ๆ ไม่ปรับให้แน่น ไม่ตบให้เรียบ หรือเทแบบไม่สโลป น้ำขังใต้หญ้าเทียมแน่นอน แถมหญ้าเทียมยังยุบเร็วอีกด้วย
วิธีหลีกเลี่ยง ทำให้เนี๊ยบตั้งแต่ฐาน จบปัญหาง่ายกว่า!
2.1 เทหินเกล็ดหรือหินคลุกให้แน่น ปรับพื้นให้เรียบ เริ่มต้นด้วยการเทหินให้ทั่วบริเวณ แนะนำว่าใช้หินเกล็ดจะดีกว่าหินคลุก เพราะหินเกล็ดระบายน้ำได้ดีกว่า ป้องกันปัญหาน้ำขังได้ดีเยี่ยม และไม่ทำให้เกิดกลิ่นอับใต้หญ้าในระยะยาว เคล็ดลับ เทให้หนาพอประมาณ ไม่ต้องหนามาก แต่เน้นให้แน่น หลังจากนั้นเกลี่ยให้พื้นเรียบสม่ำเสมอ ถ้าเจอหลุมหรือเนิน ต้องปรับให้เรียบก่อนขั้นตอนถัดไป
2.2 ปรับความสโลปของหินให้ดี อย่าลืมเช็คทิศทางน้ำไหลของพื้นที่! เพราะถ้าหินไม่ได้สโลป น้ำจะขังใต้หญ้า ทำให้พื้นยุบได้ง่าย แถมยังเสี่ยงต่อการเกิดเชื้อราอีกต่างหาก วิธีง่าย ๆ คือ ปรับความลาดเอียงของหินให้ต่ำลงเล็กน้อยในทิศทางที่ต้องการให้น้ำไหลออก ถ้าพื้นที่ใหญ่ อาจต้องปรับหลายจุด เพื่อให้น้ำกระจายออกไปได้ดี และไม่เกิดน้ำขังสะสม
2.3 ใช้เครื่องตบ อัดหินให้แน่น แค่ปรับให้เรียบยังไม่พอ! ต้องตบอัดให้แน่นด้วยเครื่องตบ รดน้ำหรือพรมน้ำเล็กน้อยก่อนตบ เพราะถ้าหินไม่แน่น พื้นจะทรุดเร็วมาก แนะนำว่าตบวนไปให้ทั่ว เพื่อให้พื้นแน่นหนา พร้อมรองรับน้ำหนักการใช้งานในอนาคต
2.4 เกลี่ยหินให้เรียบด้วยเหล็กเกลี่ย (แบบตัว T) หลังจากตบแล้ว อย่าเพิ่งคิดว่าจบ! ต้องใช้เหล็กเกลี่ยลักษณะคล้ายตัว T มาเกลี่ยหินให้เรียบอีกครั้ง วิธีนี้จะช่วยให้พื้นหินสม่ำเสมอ และไม่เกิดจุดที่บางหรือหนาเกินไป เพราะถ้าหินไม่เรียบ หญ้าเทียมที่ปูไปก็จะตามไปยุบตรงจุดนั้นแน่นอน
2.5 เททรายกลบหินอีกชั้น ปรับให้เรียบ เมื่อหินแน่นเรียบร้อยแล้ว ต่อด้วยการเททรายลงบนหิน ให้หนาพอประมาณ แค่พอให้กลบหินมิด ไม่ต้องเทหนามาก เพราะถ้าทรายหนาเกินไป พื้นจะนุ่มจนเกินไปแล้วทำให้หญ้ายุบตัวเร็ว จากนั้นใช้ไม้หรือเหล็กเกลี่ยให้เรียบทั่วทั้งพื้นที่
2.6 ตบอัดอีกครั้งเพื่อความแน่น หลังจากเกลี่ยทรายเรียบร้อยแล้ว ตบอัดอีกครั้งด้วยเครื่องตบ อย่าลืมก่อนตบทุกครั้งให้รดน้ำหรือพรมน้ำพอให้ชุ่มชื่น เพื่อให้ทรายแน่นติดพื้นหิน วิธีนี้จะช่วยป้องกันปัญหาทรายยุบตัวในอนาคต
2.7 ปาดซ้ำให้เนียนอีกรอบ เมื่อทุกอย่างแน่นหนาแล้ว อย่าลืมเก็บรายละเอียดขั้นสุดท้าย! ใช้เหล็กเกลี่ยแบบตัว T ปาดให้เรียบอีกครั้ง และถ้ายังรู้สึกว่าพื้นไม่เนียน ให้ใช้เครื่องมืออย่างสามเหลี่ยม เกียงปั้นทรายหรืออุปกรณ์ที่เหมาะสมช่วยปาดซ้ำ ถ้าทรายแห้งเวลาปาดหรือปั่นทรายโดยใช้เกียงจะไม่เนียนดังนั้นควรพรมน้ำหรือรดน้ำให้พอชุ่มชื่น เพื่อให้พื้นเรียบเนียนแบบสุด ๆ
สรุปสั้น ๆ แต่สำคัญ! "ขั้นตอนการเทหินและทราย" ไม่ใช่แค่เทแล้วจบ! เพราะถ้าพื้นไม่แน่น ไม่เรียบ ไม่สโลปให้ดี ปัญหายุบตัวหรือน้ำขังมาแน่ ๆ การลงทุนเวลาสักหน่อยกับขั้นตอนนี้ จะช่วยให้หญ้าเทียมที่ปูไปสวยเนียน ใช้งานได้ยาว ๆ ไม่ต้องมาแก้งานให้เหนื่อยทีหลังแค่เตรียมพื้นดี ๆ ทำให้ครบตามขั้นตอน ปูหญ้าเทียมทีเดียวก็อยู่ได้ยาว ๆ ไม่ต้องห่วง!
3. วางแผ่นหญ้าเทียมไม่ถูกทิศทาง ปูผิดชีวิตเปลี่ยน!
เมื่อปูหญ้าเทียมเสร็จแล้ว แต่ทำไมมองไปมองมา... มันดูแปลก ๆ เหมือนหญ้าไม่เป็นเนื้อเดียวกัน สีบางแผ่นดูเข้ม บางแผ่นก็ดูอ่อน พื้นผิวก็ไม่สม่ำเสมอ เหมือนมีรอยขีดข่วนทั่วสนาม ทั้งที่หญ้าก็ซื้อมาแบบเดียวกันทั้งหมด สาเหตุมาจาก "วางแผ่นหญ้าผิดทิศทาง" นั่นเอง!
ใช่ครับ! หญ้าเทียมแต่ละแผ่นมีทิศทางของเส้นใยที่ชัดเจน ถ้าปูแบบมั่ว ๆ วางแผ่นไปคนละทิศ สีและเนื้อสัมผัสจะดูแตกต่างทันที ทำให้ภาพรวมดูไม่เป็นธรรมชาติ เหมือนสนามหญ้าสุดพรีเมียม กลายเป็นสนามมือใหม่แบบงง ๆ ไปเลย
วางให้ถูกทิศ สวยเนียนเหมือนสนามหญ้าธรรมชาติ
3.1 เช็คทิศทางเส้นใยหญ้าก่อนวาง ก่อนจะวางหญ้าแต่ละแผ่น ให้ลองยืนมองจากมุมหนึ่งก่อน แล้วค่อย ๆ ลูบเส้นหญ้า ถ้าลูบแล้วรู้สึกว่าสีเข้ม นั่นแหละคือทิศทางของเส้นใยหญ้า หญ้าเทียมจะมีด้านที่เส้นนอนและเส้นตั้ง ถ้าจะให้พื้นดูสวยเนียน แนะนำให้หันทิศทางเส้นหญ้าไปทางเดียวกับสายตาเวลามอง เช่น ถ้าปูในสนามหรือพื้นที่โล่ง หันทิศทางให้เส้นหญ้าชี้ไปทางเดียวกับทางเดินเข้าหรือทิศทางหลักของการมอง
3.2 วางแผ่นหญ้าให้ไปในทิศทางเดียวกันทั้งหมด เมื่อรู้ทิศทางแล้ว ก็วางแผ่นหญ้าให้ทิศทางของเส้นใยไปในแนวเดียวกันทั้งหมด ห้ามวางสลับเด็ดขาด เพราะถ้าปูผิดทิศ แม้จะเป็นหญ้าเบอร์เดียวกัน รุ่นเดียวกัน แต่สีและผิวสัมผัสจะดูไม่สม่ำเสมอทันที
3.3 เช็คให้ชัวร์ก่อนติดกาว ก่อนลงกาว ให้เดินสำรวจรอบ ๆ ว่าทิศทางของหญ้าเนียนไปในทิศทางเดียวกันหรือยัง ถ้าเจอแผ่นไหนผิดทิศ รีบแก้ไขทันที เพราะถ้ากาวแห้งแล้ว จะดึงออกมายาก แถมยังเสียเวลาแก้งานอีกด้วย
3.4 วางจากแสงสว่างให้ถูกทาง อีกหนึ่งเทคนิคคือ ให้วางแผ่นหญ้าในทิศทางที่แสงสว่างตกกระทบแล้วดูสวย เช่น หากพื้นที่นั้นมีแสงไฟจากบ้านหรือแสงอาทิตย์เข้าทางไหน ให้จัดทิศทางของหญ้าให้สอดคล้องกับแสง เพื่อให้หญ้าดูสวยเป็นธรรมชาติที่สุดเวลามอง
สรุป ปูหญ้าเทียมให้เนียน สวย และดูเป็นธรรมชาติ ต้องเช็คทิศทางเส้นใยให้ชัวร์! วางให้ไปทางเดียวกันตลอดทั้งพื้นที่ อย่าหมุนมั่วเด็ดขาด เพราะถ้าปูผิดทิศ ผลลัพธ์จะดูสะเปะสะปะ สีแตกต่าง เนื้อหญ้าดูไม่เนียน งานก็จะออกมาไม่สวยแบบที่คิดไว้ แค่ตั้งใจเช็คทิศทางให้ดีก่อนเริ่มวาง เท่านี้สนามหญ้าเทียมของคุณก็จะสวยเนียนเหมือนสนามมืออาชีพ!
4. ประกบหญ้าเทียมผิดวิธี พลาดนิดเดียว...งานพังทั้งสนาม!
รอยต่อหญ้าเทียม ถือเป็นจุดสำคัญที่ใครหลายคนมักพลาด เพราะถ้าประกบหญ้าไม่เนียน รอยต่อจะโผล่ชัดจนทำให้สนามดูไม่สวยงามแบบที่ตั้งใจไว้เลย อีกหนึ่งปัญหาหลักที่มักเจอบ่อยคือ "ไม่ตัดขอบหญ้าสีดำออกก่อนประกบ" ขอบสีดำตรงร่องนี้ ถ้าไม่ตัดออก รอยต่อจะเห็นชัดเหมือนมีเส้นแบ่งกลางสนาม ทำให้หญ้าดูไม่กลืนกันและเสียอารมณ์ทุกครั้งที่มอง
วิธีหลีกเลี่ยง ทำอย่างไรให้รอยต่อเนียนกริบเหมือนมืออาชีพ?
4.1 ตัดขอบหญ้าสีดำด้วยคัตเตอร์เท่านั้น! หลายคนมักคิดว่ากรรไกรจะช่วยได้ แต่จริง ๆ แล้วกรรไกรตัดขอบหญ้าเทียมออกมาไม่เรียบ แถมยังอาจทำให้เส้นหญ้าหลุดหรือเสียทรงอีกด้วย ดังนั้น คัตเตอร์ คือพระเอกตัวจริงที่จะช่วยให้ขอบหญ้าตัดได้เรียบเนียน สวยเป๊ะ ควรตัดออกร่อง 1 ของขอบหญ้า เพราะถ้าปล่อยไว้ จะทำให้รอยต่อโผล่ชัดเจน และกลายเป็นจุดบอดที่ทำให้หญ้าไม่แนบสนิทกัน
4.2 เปิดหญ้าเทียมทั้งสองฝั่งพร้อมกัน แล้วประกบอย่างระมัดระวัง ใช้มือทั้งสองข้างจับหญ้าเทียมให้แน่น เปิดแผ่นหญ้าทั้งสองฝั่งแล้ววางลงพร้อมกันอย่างเบามือและระวัง ไม่ให้ปลายหญ้าทับกัน หรือแผ่นเลื่อนจนรอยต่อไม่ตรงกัน วิธีนี้จะช่วยให้รอยต่อแนบสนิทและสวยเนียนอย่างเป็นธรรมชาติ
4.3 ถ้าจะเปิดแค่ฝั่งเดียว เลือกฝั่งที่มีปลายหญ้ายื่นออก ในบางกรณีที่พื้นที่แคบหรือมีข้อจำกัดในการวางหญ้า ควรเลือกเปิดฝั่งที่มีปลายหญ้ายื่นออกมา เพราะจะง่ายต่อการเทกาวและหลีกเลี่ยงไม่ให้กาวเลอะหญ้า ปลายหญ้าจะปิดรอยต่อได้ดีขึ้น และช่วยให้ประกบหญ้าดูเนียนเป็นธรรมชาติมากขึ้น
4.4 วิธีจัดการหากกาวเลอะหญ้า ถ้ากาวเผลอหกใส่หญ้าเทียม อย่ารอช้า! รีบเช็ดออกทันทีด้วยผ้าชุบน้ำมันเบนซินหรือแอลกอฮอล์ จากนั้นเช็ดไปในทิศทางเดียวกับเส้นหญ้า อย่าเช็ดวน เพราะจะทำให้กาวเลอะกว้างกว่าเดิม และอาจทำให้เส้นหญ้าหักหรือล้มไม่สวยเหมือนเดิม
4.5 เช็คความเนียนของรอยต่อก่อนลงกาวจริง ก่อนที่จะลงกาวจริง ควรเช็ครอยต่อก่อนว่าหญ้าประกบเนียนดีหรือยัง ถ้ายังมีช่องหรือรอยแยก ให้ปรับตำแหน่งอีกครั้งจนกว่าจะเนียนสนิท แล้วค่อยลงกาว จะช่วยให้งานออกมาสวยเป๊ะ ไม่มีช่องโหว่แน่นอน
สรุปง่าย ๆ!"รอยต่อเนียน งานเป๊ะ!" เริ่มจาก ตัดขอบหญ้าสีดำด้วยคัตเตอร์เท่านั้น เพื่อให้ได้ขอบที่เรียบเนียน แล้วเปิดหญ้าทั้งสองฝั่งประกบอย่างระวัง เพื่อป้องกันหญ้าทับกัน หรือถ้าจะเปิดแค่ข้างเดียว ต้องเลือกฝั่งที่มีปลายหญ้ายื่นออกมา และถ้ากาวเลอะต้องเช็ดให้ไว และที่สำคัญ อย่าลืมเช็ครอยต่อให้เนียนก่อนลงกาวจริง!เพราะแค่รอยต่อเนียน งานก็ออกมาดูสวยเป๊ะเหมือนมืออาชีพ แต่ถ้าพลาด ก็เหมือนมีเส้นขีดกลางสนามที่คอยกวนใจทุกครั้งที่มองเลยครับ!
5. ลงกาวไม่สม่ำเสมอ ถ้ารีบปาด...เตรียมรับความพัง!
หนึ่งในข้อผิดพลาดยอดฮิตที่ใครหลายคนมักพลาดโดยไม่รู้ตัว ก็คือ "การลงกาวไม่สม่ำเสมอ" บางทีรีบปาด รีบเท รีบจบ พอหญ้าแห้งปุ๊บ...กาวหนาเป็นก้อนบ้าง บางเป็นจุดบ้าง ส่งผลให้หญ้าเทียมติดไม่แน่น เดินไปไม่กี่เดือนก็เริ่มร่อนออกมา ยิ่งตรงรอยต่อ ถ้าลงกาวไม่ดี บอกเลยว่าหญ้าปริแน่นอน! และเชื่อไหม? ถ้ากาวไม่แน่น หญ้าจะยกตัวเป็นคลื่น ๆ เดินเหยียบทีหนึ่งนี่รู้เรื่องเลย! แบบนี้ไม่ใช่แค่ไม่สวยนะ แต่ยังต้องเสียเวลาและเงินซ่อมอีกด้วย
วิธีหลีกเลี่ยง ปาดกาวให้เป๊ะ เนียนกริบ ไม่ต้องซ่อมบ่อย
5.1 ปาดกาวให้ไม่บางไม่หนาเอาแบบพอดีๆ แต่ต้องทั่วถึง เวลาปาดกาว ต้องปาดไม่ให้หนามากและเสมอทั่วทุกจุด ห้ามให้หนาเป็นก้อน เพราะเวลาหญ้าแห้ง กาวหนาจะทำให้หญ้ายกตัว ดูแล้วขรุขระไม่สวยเลย และห้ามปาดบางจนเกินไป เพราะหญ้าจะติดไม่แน่น แค่ไม่กี่วันก็เริ่มร่อนแล้ว
5.2 เน้นตรงรอยต่อให้แน่นเป็นพิเศษ ตรงรอยต่อของหญ้า เป็นจุดที่ต้องพิถีพิถันเป็นพิเศษ! เพราะถ้ากาวไม่แน่น รอยต่อจะปริ โผล่ชัดเหมือนมีเส้นขีดกลางสนามเลย วิธีแก้ง่าย ๆ คือลงกาวตรงรอยต่อให้หนาขึ้นอีกนิด (แต่ไม่ต้องหนาจนเป็นก้อนนะ) แล้วปาดให้เรียบเสมอกัน เพื่อให้กาวแนบสนิทกับหญ้าแบบเนียน ๆ
5.3 หลังวางหญ้าแล้ว ต้องใช้เท้าเหยียบย้ำให้แน่น พอวางหญ้าเสร็จ อย่าปล่อยให้กาวทำงานเอง เพราะกาวบางชนิดถ้าไม่กดให้แน่น มันจะไม่ติด! วิธีง่าย ๆ คือ ใช้เท้าเหยียบลงบนรอยต่อเป็นระยะ ๆ เพื่อกดให้กาวแนบสนิทกับแผ่นหญ้า เสมือนเรากำลังกดประทับรอยแน่น ๆ ลงไป แบบนี้รับรองเลยว่าหญ้าจะติดแน่น ไม่มีร่อน ไม่มีปริ
5.4 ถ้ากาวเลอะต้องเช็ดออกทันที! ระหว่างปาดกาว ถ้าเผลอทำกาวเลอะหญ้าเทียม ห้ามปล่อยทิ้งไว้นานเด็ดขาด! เพราะกาวแห้งเมื่อไหร่ เลอะไปทั้งสนามแน่นอน วิธีแก้คือต้องเช็ดทันทีด้วย ผ้าชุบน้ำมันเบนซินหรือแอลกอฮอล์ แล้วเช็ดในทิศทางเดียวกับเส้นหญ้า อย่าเช็ดวน เพราะจะยิ่งทำให้กาวเปื้อนกว้างกว่าเดิม
สรุปให้เข้าใจง่าย ๆ ปาดกาว บาง ๆ แต่ทั่วถึง ห้ามหนาเป็นก้อนเด็ดขาด! รอยต่อ ต้องเน้นพิเศษ ปาดให้เนียน ๆ ไม่มีช่องโหว่ วางหญ้าแล้ว เหยียบกาวซ้ำ เป็นระยะ เพื่อความแน่น ถ้ากาวเลอะหญ้า รีบเช็ดออกทันที อย่าปล่อยให้แห้ง! เพราะงานเนียน...เริ่มต้นที่ "กาวแน่น!" ถ้าลงกาวดี งานก็สวยยาว ๆ เดินเหยียบไปก็มั่นใจ ไม่ต้องกลัวหญ้าหลุด ไม่ต้องซ่อมซ้ำซาก สบายใจได้ไปอีกนานเลย!
6. ใช้งานหญ้าเทียมแบบผิดวิธี ปูสวยแค่ไหน ถ้าใช้พังก็จบ!
ต่อให้ปูหญ้าเทียมสวยเนี้ยบแค่ไหน แต่ถ้าใช้งานผิดวิธี...หญ้าก็พังเร็วเหมือนโดนสาป! เพราะหญ้าเทียมก็เหมือนของแต่งบ้าน ถ้าดูแลไม่ดี มันก็เสื่อมสภาพเร็ว ไม่ว่าจะเหยียบผิด วางของผิด หรือทิ้งของผิด ๆ บนหญ้า ก็ทำให้หญ้าสวย ๆ ที่อุตส่าห์ปูมา เสียหายได้ง่าย ๆ
จะดีกว่าไหม...ถ้าเรารู้วิธีหลีกเลี่ยงปัญหานี้ตั้งแต่แรก? ข้อควรระวังหลังปูหญ้าเทียม รักษาให้สวยยาวนาน!
1. หลีกเลี่ยงรองเท้าส้นสูงหรือสตั๊ดปุ่มเหล็ก ศัตรูตัวร้ายของหญ้าเทียม!
รองเท้าส้นสูงหรือสตั๊ดปุ่มเหล็ก เป็นตัวการทำร้ายหญ้าเทียมแบบเงียบ ๆ เพราะน้ำหนักที่กดลงไปในจุดเล็ก ๆ จะทำให้พื้นหญ้ายุบตัวได้ง่าย และถ้าเป็นปุ่มเหล็ก ยิ่งทิ่มทะลุเส้นหญ้า พื้นที่ปูไว้เรียบเนียนก็จะกลายเป็นพื้นคลื่น ๆ ดูแล้วขัดใจสุด ๆ
ถ้าไม่อยากให้พื้นเป็นหลุมเป็นบ่อ แนะนำให้เปลี่ยนมาใช้รองเท้าพื้นเรียบเดินแทน หรือถ้าจะจัดปาร์ตี้บนสนามหญ้า บอกแขกให้ถอดรองเท้าเลยก็ยิ่งดี ได้ฟีลสบาย ๆ ชิลล์ ๆ ไปอีก!
2. ห้ามทิ้งก้นบุหรี่ ความร้อนจากไฟจิ๋ว แต่หญ้าพังใหญ่!
หลายคนมองข้ามเรื่องนี้ไป แต่ความร้อนจากก้นบุหรี่สามารถทำให้หญ้าไหม้เป็นวงได้ในพริบตา! แล้วหญ้าไหม้ก็ไม่ได้ซ่อมง่าย ๆ นะ ต้องรื้อแล้วปูใหม่เท่านั้น
แนะนำ ถ้าคุณหรือใครในบ้านสูบบุหรี่ หามุมสูบที่ห่างจากหญ้าเทียมสักหน่อย จะได้ไม่ต้องมาเสียใจทีหลัง เพราะแค่ก้นบุหรี่จิ๋ว ๆ ก็ทำลายหญ้าสวย ๆ ได้ไม่รู้ตัว
3. หมากฝรั่ง ศัตรูตัวแสบที่ติดแน่นจนปาดไม่ออก!
หมากฝรั่งนี่ตัวร้ายเลยนะ! เพราะถ้าติดลงไปบนหญ้าเทียมแล้ว จะทำความสะอาดยากมาก ๆ ถ้าจะขูดออกก็กลัวหญ้าเสีย แต่ถ้าทิ้งไว้นาน ๆ ก็จะยิ่งฝังแน่น
ถ้าหมากฝรั่งติดหญ้า วิธีแก้แบบเบสิกคือ ใช้น้ำแข็งถูให้หมากฝรั่งแข็งตัว แล้วค่อย ๆ ดึงออก (แต่ก็ดีที่สุดคือ "อย่าให้มันตกลงไปเลยตั้งแต่แรก")
4. หลีกเลี่ยงการวางของหนัก ๆ บนหญ้า ยิ่งหนัก ยิ่งยุบ!
ไม่ว่าจะเป็นโต๊ะ เก้าอี้ ชิงช้า หรือของแต่งสวนที่มีน้ำหนักมาก ๆ ถ้าวางบนหญ้าเทียมนาน ๆ น้ำหนักจะกดทับจนพื้นหญ้ายุบตัว ยิ่งหนักก็ยิ่งพังเร็ว พอยกออกมาก็จะเห็นรอยบุ๋มชัดเจน วิธีแก้ง่าย ๆ คือพยายามวางของหนักบนแผ่นรอง หรือไม่ก็ขยับเปลี่ยนตำแหน่งวางบ่อย ๆ เพื่อลดแรงกดทับ
สรุปแบบสั้น ๆ ง่าย ๆ รองเท้าส้นสูง & สตั๊ดปุ่มเหล็ก = ห้ามเหยียบ ก้นบุหรี่ = อย่าทิ้ง ถ้าไม่อยากให้หญ้าไหม้! หมากฝรั่ง = ศัตรูตัวแสบ ติดแล้วทำความสะอาดยาก ของหนัก ๆ = วางนานไป พื้นยุบแน่นอน ปูหญ้าเทียมให้สวยอย่างเดียวไม่พอ ต้อง "ใช้งานให้ถูก" ด้วยนะ! ถ้าดูแลดี ๆ หญ้าสวย ๆ ก็อยู่กับเราได้นาน ไม่มีปัญหากวนใจแน่นอน.
7. ละเลยการตรวจสอบความเรียบร้อย ปูสวยแค่ไหน แต่ถ้าไม่เช็คให้ชัวร์ พังแน่!
หลายคนปูหญ้าเทียมเสร็จแล้วคิดว่า “เอาล่ะ เรียบร้อย!” แต่ความจริงแล้ว... งานปูหญ้าเทียมยังไม่เสร็จถ้ายังไม่ได้ “ตรวจเช็ค” ให้ละเอียด! เพราะบางครั้งปัญหาที่มองข้ามไปเล็ก ๆ น้อย ๆ อย่างพื้นไม่เรียบ ขอบหญ้าไม่แน่น หรือรอยต่อไม่เนียน อาจกลายเป็นเรื่องใหญ่ที่ทำให้ต้องแก้งานทีหลังให้ปวดหัวเล่น
วิธีเช็คความเรียบร้อยหลังปูหญ้า ขั้นตอนเล็ก ๆ ที่ช่วยให้งานเนียนกริ๊บ
1. เช็คความเรียบของพื้นผิว ไม่มีคลื่น ไม่มีเนิน คือผ่าน!
ลองใช้มือลูบดู หรือเดินวนรอบพื้นที่ที่ปูหญ้าเทียม ถ้ารู้สึกว่ามีความขรุขระ พื้นไม่สม่ำเสมอ หรือมีคลื่นนูนขึ้นมาเมื่อเดินผ่าน... แบบนี้ไม่โอเคแน่นอน! เพราะถ้าไม่แก้ตอนนี้ พื้นหญ้าจะยิ่งทรุดง่าย พอใช้ไปนาน ๆ จะกลายเป็นหลุมเป็นบ่อทันที
วิธีแก้ ถ้าเจอจุดไหนไม่เรียบ ให้ยกหญ้าขึ้นแล้วปรับหน้าดินหรือหินเกล็ดให้เรียบก่อน ปรับเสร็จแล้วค่อยวางหญ้ากลับมา จะได้เนียนกริ๊บทุกมุม!
2. เช็คขอบหญ้าด้านข้าง ยิ่งแน่น ยิ่งอยู่ทน!
สำหรับพื้นปูน ต้องเช็คให้ชัวร์ว่าขอบหญ้าติดกาวแน่นหรือยัง ลองใช้นิ้วจิ้มดู ถ้ายังหลวม ๆ แนะนำให้เติมกาวแล้วกดให้แน่น จะได้ไม่ต้องกลัวหญ้าลุ่ยตอนใช้งาน
สำหรับพื้นดิน ใช้ ตะปูตอกเก็บขอบ ให้แน่นทุกจุด! ตะปูจะช่วยล็อกหญ้าไม่ให้ลุ่ยหรือขอบลอย เพราะขอบหญ้าที่ไม่แน่นจะทำให้น้ำซึมเข้าไปข้างใต้ จนเกิดปัญหาน้ำขังและหญ้าเสื่อมเร็ว
3. ตรวจสอบรอยต่อ ตรงไหนหลวม ติดกาวซ้ำทันที!
รอยต่อของหญ้าเป็นจุดที่ต้องระวังที่สุด! เพราะถ้าไม่แนบสนิท ไม่เพียงแต่มองเห็นรอยชัด แต่ยังอาจทำให้น้ำซึมเข้าไปหรือหญ้าร่อนหลุดได้ง่าย ๆ
วิธีเช็คง่าย ๆ เอามือจับรอยต่อแล้วลองดึงเบา ๆ ถ้ารู้สึกว่าหญ้ายังไม่ติดแน่น แนะนำให้เปิดรอยต่อแล้วเติมกาวซ้ำ ใช้มือกดให้แน่น และถ้าอยากชัวร์ให้เอาเท้าเหยียบลงไปที่รอยต่ออีกที จะได้แน่ใจว่ากาวแนบสนิทติดแน่นทุกจุด!
4. ตรวจเช็คภาพรวมอีกครั้ง ชัวร์ก่อนส่งมอบ!
ก่อนจะเรียกว่างานเสร็จสมบูรณ์ ลองถอยหลังแล้วมองภาพรวมของสนามหญ้าอีกครั้ง ถ้ายังเห็นรอยต่อบางจุด หรือพื้นที่ไหนยังไม่เรียบ ก็กลับไปเก็บงานซะ! เพราะบางอย่างถ้าไม่รีบแก้ตอนนี้ ตอนหลังจะยุ่งยากกว่าเดิมหลายเท่า
สรุปง่าย ๆ ให้ชัด พื้นไม่เรียบ? แก้เลย! ยกหญ้าขึ้นแล้วปรับหน้าดินให้เรียบ ขอบหญ้าไม่แน่น? เติมกาวหรือใช้ตะปูเก็บขอบทันที รอยต่อหลวม? ปาดกาวเพิ่มแล้วกดให้แน่น เดินเช็คซ้ำก่อนจบงาน เพื่อให้มั่นใจว่างานเนียน ไม่มีปัญหาแน่นอน! จำไว้เลย! ปูหญ้าเทียมเสร็จไม่ใช่จบ แต่งานจะสมบูรณ์หรือไม่...อยู่ที่ขั้นตอน “เช็คความเรียบร้อย” นี่แหละ เพราะถ้าเช็คให้ชัวร์ตั้งแต่แรก ก็จะไม่มีปัญหามากวนใจทีหลังแน่นอน!
0 ความคิดเห็น